Click for share
4.3
(6)

Cloud Computing คืออะไร มีกี่ประเภท

เวลาเราพูดถึง Cloud ในด้าน IT มักจะหมายถึงอะไรสักอย่างที่ไม่สามารถจับต้องได้ ลอยไปลอยมาอยู่บนอากาศเหมือนก้อนเมฆ โดยการเข้าถึงระบบ Cloud ต่างๆ ก็จะต้องผ่าน Internet นั่นเอง.. แล้ว Cloud Computing คือ อะไร บทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกัน

นอกจากทำความรู้จาก Cloud Computing แล้ว เราจะพาคุณไปรู้จักกับ ประเภทของ Cloud Computing ทั้ง 3 ประเภท Public Cloud, Private Cloud และ Hybrid Cloud ข้อดี และข้อเสีย ของแต่ละประเภท รวมถึงรูปแบบการให้บริการของระบบ Cloud ไม่ว่าจะเป็น Software as a Service (SaaS), Platform as a Service (PaaS) และ Infrastructure as a Service (IaaS)

สำหรับ Cloud Computing คือ การให้บริการที่ครอบคลุมด้าน เซิร์ฟเวอร์ ฐานข้อมูล (Database) การจัดเก็บข้อมมูล (Storage) ซอฟต์แวร์ เครือข่าย การวิเคราะห์ผล และประมวลผล โดยทั้งหมดนี้หากเราเริ่มใช้บริการ จะไม่มีอุปกรณ์ หรือเครืองอะไรส่งมีที่ออฟฟิศ เพราะทุกอย่างอยู่บน Cloud หมดแล้ว โดยเราสามารถเข้าถึงเพื่อใช้งานได้ผ่าน Internet หรือการ Remote เข้าไปใช้งาน ซึ่งก็จะมีหลายบริษัทที่ให้บริการอยู่ เช่น Microsoft และ Amazon เป็นต้น

ถ้าใครยังงงๆ อยู่ ให้ลองนึกถึง Cloud Storage ที่เราใช้งานกันอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น DropBox หรือ Google Drive ล้วนแต่เป็นบริการ Cloud Storage หรือบริการจัดเก็บข้อมูลผ่านระบบ Cloud ซึ่ง Cloud Storage คือเพียงหนึ่งส่วนประกอบของ Cloud Computing โดย Cloud Storage ถูกนำมาใช้งานแทน Hard Disk หรือ Thumb Drive ที่เราเคยใช้เก็บข้อมูลกัน โดยที่เราไม่ต้องคอยเก็บ Hard Disk เหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไป ไม่ต้องกลัวหาย ไม่ต้องกลัวเต็ม เพราะหากเต็ม ก็สามารถขยายแพ็กเกจ หรือเสียค่าบริการเพิ่มเพียงเล็กน้อย ก็ได้ความจุในการเก็บข้อมูลเพิ่มขึ้นแล้ว

ข้อดี และ ประโยชน์ของ Cloud Computing

ข้อดี และ ประโยชน์ของ Cloud Computing คือ อะไรบ้างมาดูกัน! จริงๆ อาจมีอีกมากมาย แต่บทความนี้เราจะยกมา 4 ข้อหลักๆ ที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจน

  1. ประหยัด: เพราะไม่ต้องเสียเงินที่เป็น Initial Cost ในการลงทุนสร้างระบบ รวมถึงการ Service ในฝั่งของฝ่าย IT ที่เป็น Ongoing Cost
  2. ครอบคลุมทั่วโลก: การใช้บริการ Cloud Computing เราสามารถเลือกที่ตั้งของ Data Center ได้ เช่น จะให้อยู่ในแถบเอเชีย อเมริกา หรือยุโรปก็ได้ โดยเราไม่จำเป็นต้องไปสร้าง Data Center ด้วยตัวเองในประเทศต่างๆ
  3. ประสิทธิภาพ: เนื่องจากบริการนี้ให้บริการอยู่ทั่วโลก ดั้งนั้นผู้ให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ไหนก็แล้วแต่ ต้องอัพเกรดระบบอยู่อย่างเสมอ เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อรองรับการให้บริการทั่วโลก ต่างกันการที่คุณมี Local ของตัวเอง การอัพเดทก็อาจช้า ไม่ทันเทคโนโลยีใหม่ๆ ระยะยาวอาจทำให้ประสิทธิภาพลดลงได้
  4. ความเสถียรในการใช้งาน: ระบบจะมีคำสั่งในการ Backup ข้อมูล หรือ กู้ฐานข้อมูลกลับ (Data Recovery) ได้ง่ายกว่า ช่วยให้ฝ่าย IT ดูแลระบบได้ง่ายขึ้น และยังมีระบบด้านความปลอดภัยต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมด้าน Cyber Security และป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์

Cloud Computing มีกี่ประเภท

ประเภทของ Cloud Computing มีทั้งหมด 3 ประเภทหลักๆ สำหรับการเลือกใช้งาน คือ

  1. Public Cloud
  2. Private Cloud
  3. Hybrid Cloud

    โดยสามารถแสดงว่า 3 ประเภทนี้คืออะไร ดังรูป

1. Public Cloud

Public Cloud เหมือนกับการใช้ทรัพยากรรวมกัน เช่น บริษัท A ลงทุนสร้างทรัพยกรณ์ต่างๆ ขึ้นมา เช่น เซิร์ฟเวอร์ และ ​Storage ขึ้นมา โดยทั้ง Software และ Hardware ต่างๆ จะอยู่ที่บริษัท A โดยบริษัท A จะเป็นผู้ดูแลทั้งหมด จากนั้นบริษัท A ก็นำมาปล่อยให้บริษัทอื่นๆ เข้ามาเช่าใช้งานได้ ข้อดีคือเราไม่ต้องลงทุนอะไรเลย แค่เช่าตามขนาด หรือบริการที่เหมาะกับเรา ซึ่งจะขยาย Scale เพิ่มขึ้น หรือลดลงก็ได้ตามต้องการ ค่อนข้างคล่องตัวในการใช้งาน

2. Private Cloud

อันนี้จะมีความเป็นส่วนตัวสูงขึ้น เพราะไม่ต้องไปแชร์ทรัพยากรณ์กับใครทั้งนั้น เราใช้ทรัพยากรณ์นั้นสำหรับบริษัทเราเองเท่านั้น โดยแน่นอนว่ามีความปลอดภัยมากกว่า และสามารถ Customized ได้ตามต้องการ แต่ว่าบริษัทจะต้องสร้างทรัพยากรขึ้นมาเอง หรือบางบริษัทอาจจะไปว่าจ้างผู้ให้บริการ Third-party ข้างนอกให้ช่วยดูแลให้ก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ระบบนี้จะเป็นระบบปิดที่สามารถเข้าใช้งานได้เฉพาะบริษัทเดียวเท่านั้น ซึ่งระบบแบบ Privat Cloud จะไม่ค่อยคล่องตัวในการ Scale หรือขยายขนาดการใช้งานสักเท่าไหร่

3. Hybrid Cloud

คือลูกผสมระหว่าง Public Cloud และ Private Cloud โดยจะมีเทคโนโลยีที่สามารถผสมทั้ง 2 ส่วนนี้เข้าด้วยกัน เพื่อให้ข้อมูลสามารถเชื่อมต่อกันได้ ย้ายไปมาระหว่างกันได้ ทำให้บริษัทของเราสามารถเก็บข้อมูลบางส่วนที่ต้องการความปลอดภัยในระดับสูงไว้ที่ Private Cloud ในขณะที่อีกบางส่วนอาจใช้งานบน Public Cloud เพื่อความคล่องตัวในการใช้งานหากต้องการ Scale การใช้งานที่เพิ่มขึ้น

การเลือกใช้งาน Cloud ควรเลือกประเภทที่เหมาะสมกับการใช้งานของเรา เช่น หากเป็น Start Up หรือเป็นธุรกิจที่ไม่ได้มีข้อมูลที่สำคัญมาก ต้องการความคล่องตัวในการขยาย ต้องการลดงบในการลงทุน ความปลอดภัยระบบมาตรฐาน แบบนี้ Public Cloud อาจจะเหมาะกับการใช้งานมากกว่า ในขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ที่มี Data สำคัญจำนวนมาก บริษัทระดับโลก หรือหน่วยงานของรัฐบาล ที่ต้องการความปลอดภัยระดับสูงสุด ต้องการปรับแต่งระบบให้เหมาะกับการใช้งานที่อาจซับซ้อน แบบนี้ Private Cloud อาจจะเหมาะกว่า

รูปแบบของบริการ Cloud Computing

Software as a Service (SaaS)

คือ บริการที่ให้ใช้หรือเช่าใช้บริการ Software และ Application ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยประมวลผลบนระบบของผู้ให้บริการโดยที่เราไม่ต้องกังวลหรือหาคนมาดูแล Infrastructure และคนมาสร้าง Application ให้เรา เพราะทุกอย่างได้ถูกจัดเตรียมมาโดยผู้ให้บริการเรียบร้อยแล้ว

ข้อดี คือ ไม่ต้องลงทุนในการสร้างระบบคอมพิวเตอร์ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์เอง ซอฟต์แวร์จะถูกเรียกใช้งานผ่าน Cloud จากที่ไหนก็ได้

ตัวอย่างที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด เช่น Google Docs ที่มาในรูปแบบการใช้ซอฟต์แวร์ผ่านเว็บบราวเซอร์ โดยไม่ต้องติดตั้งซอฟต์แวร์ลงบนเครื่อง หรือ Web-based Email Service ต่าง ๆ เช่น Hotmail, Gmail, Facebook, Twitter ที่มีการเก็บโปรแกรมและข้อมูลต่าง ๆ ไว้ที่ Host แล้วให้ผู้ใช้สามารถเรียกใช้ Application ต่าง ๆ ผ่านทางเว็บได้ ถือว่าเป็นบริการประเภทนี้อีกเช่นเดียวกัน

Platform as a Service (PaaS)

คือ การให้บริการด้าน Platform สำหรับผู้ใช้งาน เช่น นักพัฒนาระบบ หรือ Developer ที่ทำงานด้าน Software และ Application โดยผู้ให้บริการ Cloud จัดเตรียมทรัพยากรสำหรับการพัฒนาระบบที่จำเป็น เช่น Hardware, Software และ ชุดคำสั่ง เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถพัฒนาระบบได้อย่างสมบูรณ์แบบบนระบบ Cloud

ข้อดี คือ สามารถช่วยลดต้นทุนและเวลาที่ใช้ในการพัฒนาซอฟท์แวร์ได้

ตัวอย่างบริการทางด้านนี้ เช่น Google App Engine, Microsoft Azure ที่สามารถนำมาพัฒนาแอปพลิเคชันที่ให้บริการคนจำนวนมหาศาลได้ โดยใช้เวลาพัฒนาไม่นานด้วยทีมงานแค่ไม่กี่คน

Infrastructure as a Service (IaaS)

คือ บริการที่ครอบคลุมเฉพาะในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานทางด้านไอทีได้แก่ ระบบเครือข่าย (Network), ระบบจัดเก็บข้อมูล (Database), ระบบประมวลผล (CPU) ไปจนถึงอุปกรณ์พื้นฐาน เช่น Servers และ ระบบปฏิบัติการ (OS)ใ นรูปแบบระบบเสมือน (Virtualization) โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อ Hardware ที่มีราคาแพง

ข้อดี คือ ไม่ต้องลงทุนซื้อเอง สามารถขยายได้ง่ายตามการเติบโตของบริษัทและมีความยืดหยุ่นสูง ลดความยุ่งยากในการดูแลระบบเอง แต่จำเป็นต้องมีผู้ดูแลระบบด้าน IT

ตัวอย่างของบริการให้เช่ากำลังประมวลผล บริการให้เช่าเซิร์ฟเวอร์เสมือน เพื่อใช้ลงและรันแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่เราต้องการเช่น OpenLandscape Cloud, Google Compute Engine, Amazon Web Services, Microsoft Azure เป็นต้น

สรุป

จะเห็นได้ว่าแท้จริงแล้ว Cloud Computing ไม่ได้เป็นเทคโนโลยีที่ไกลตัวและยังใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับธุรกิจทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก หรือแม้กระทั้งโปรเจกต์เล็ก ๆ ของเราให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มศักยภาพทั้งในด้านของความรวดเร็ว ความยืดหยุ่น และความปลอดภัย รวมไปถึงยังสามารถช่วยลดต้นทุนและประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มากอีกด้วยเช่นกัน

บทความนี้มีประโยชน์อย่างไร ?

คลิกที่ดาวเพื่อให้คะแนน!

คะแนนเฉลี่ย 4.3 / 5. จำนวนโหวต: 6

ยังไม่มีคะแนนโหวต! เป็นคนแรกที่ให้คะแนนบทความนี้